ปกติมนุษย์จะเรียนรู้ได้ด้วยการได้ยินเสียงเป็นอันดับแรก ไม่ใช่การมองเห็น การฟังเสียงต่างๆรอบตัวต้องมาก่อน การพัฒนามนุษย์ต้องพึ่งพาเสียงจากการได้ยินเป็นหลักสำคัญ ในประเทศไทยนั้น จากสถิติทางการแพทย์พบว่า มีผู้บกพร่องทางการได้ยินเกือบ 300,000 คน โดยพบในเด็กแรกคลอด จำนวน 3 ต่อ 1,000คน และในประชากรทั่วไป 1 ต่อ 3,000 คน เป็นเรื่องที่น่าเศร้าของคนที่มีความผิดปกติทางด้านการได้ยิน หรือคนพิการทางการได้ยินแต่กำเนิด ที่จะต้องสูญเสียการได้ยินไปตลอดชีวิต เพราะแท้ที่จริงบุคลากรของชาติที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต จะต้องกลายเป็นคนพิการและอาจทำให้รู้สึกไร้ค่าในการใช้ชีวิตในสังคม ทั้งที่ความเป็นจริงพวกเขามีความสามารถนำมาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ เพียงแต่ขาดโอกาสทางการสื่อสารเท่านั้น การช่วยเหลือคนกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ขณะนี้ วิวัฒนาการทางการแพทย์ ได้ช่วยให้คนที่เคยสิ้นหวังทางการได้ยิน กลับมามีชีวิตใหม่ได้ และยินเสียงที่พวกเขารอคอยมานาน จากวิวัฒนาการทางการแพทย์ด้าน “การผ่าตัดประสาทหูเทียม”  (Cochlear Implants) ประสาทหูเทียมนี้ จะแตกต่างจากเครื่องช่วยฟังอื่นๆ ประสาทหูเทียมจะไปทดแทนส่วนของประสาทหูชั้นในที่บกพร่อง ช่วยกระตุ้นประสาทรับเสียง ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาได้ยินเสียงอีกครั้ง

นายแพทย์เกียรติยศ โคมิน หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก ประสาทหูเทียม โรงพยาบาลราชวิถี เล่าถึงเทคโนโลยี “ประสาทหูเทียม” ว่า เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่เป็นทางเลือกใหม่ในวงการแพทย์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สามารถช่วยให้ผู้ประสบปัญหาด้านการได้ยินสามารถได้ยินเสียงและพูดติดต่อสื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยอาจถือได้ว่าประสาทหูเทียมเป็นความพยายามอีกขั้นหนึ่งในการพัฒนาขีดความสามารถในการได้ยินจนประสบผลสำเร็จ

สมัยก่อนเด็กที่เกิดมาหูหนวก พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะยอมรับชะตากรรม และต้องส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนการศึกษาพิเศษ ที่สอนการใช้ภาษามือ พวกเขาต้องขาดการสื่อสารโดยการใช้เสียงในชีวิตทั้งหมด จะสื่อสารกันในกลุ่มคนของเขาเอง เมื่อทำงานก็จะค่อนข้างลำบากในการเข้าสังคมกับคนอื่น เพราะสื่อสารกันไม่ได้

“สำหรับในประเทศไทยตอนนี้ ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในเมืองไทยเมื่อเทียบกับสถิติทั่วโลกที่พบเหมือนกันหมด คือ ประชากรทุกๆ 3,000 คน จะมี 1 คนที่เป็นโรคหูหนวกที่ไม่ได้ยินเสียง บ้านเราพบปัญหาประชากรที่มีปัญหานี้จำนวน 200,000 กว่าเกือบ 300,000 คน ถ้าคนเหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือ พวกเขาก็จะใช้ชีวิตในสังคมยากขึ้น เพราะคนเราเรียนรู้ได้ด้วยการได้ยินเสียงเป็นอันดับแรก ไม่ใช่การมองเห็น เสียงต้องมาก่อน การพัฒนามนุษย์ต้องพึ่งพาเสียงจากการได้ยินเป็นหลักสำคัญ” น.พ.เกียรติยศ กล่าว

หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ฯ ร.พ.ราชวิถี อธิบายถึงการแก้ปัญหาดังกล่าวว่า ประเด็นสำคัญอันดับแรก คือ เด็กแรกเกิดทุกคนควรได้รับการตรวจว่าเขามีความบกพร่องทางการได้ยินหรือไม่ เนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในขณะนี้ ทำให้ทาง ร.พ. มีการตรวจเช็คการได้ยินของเด็กแรกเกิดได้ว่าเขาเป็นคนหูดีหรือไม่ดี เมื่อพบ
ปัญหาก็จะช่วยเหลือได้ทันที การใช้เครื่องช่วยฟังก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง เมื่อเด็กได้ยินเสียง แต่ถ้าหูเสียเกินระดับที่
เครื่องช่วยฟังช่วยได้ ก็จะต้องพึ่งพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี นั้นคือ “ประสาทหูเทียม” หรือ Cochlear Implant ถ้าแปลศัพท์ตรงตัว Cochlear คือ อวัยวะส่วนที่ใช้รับเสียง และ Implant คือการใส่เข้าไป

น.พ.เกียรติยศ อธิบายต่อว่า “ประสาทหูเทียม” มีอยู่สองส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ด้านนอก อีกส่วนผ่าตัดฝังเข้าไปข้างใน
ส่วนที่อยู่ด้านนอกทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวรับเสียง เมื่อรับเสียงเข้ามาจะกรองเสียง และแปลงเสียงเป็น Digital code
แล้วส่งต่อไปยังส่วนที่ฝังอยู่ภายใน สัญญาณที่ส่งต่อไปในนั้นจะเป็นความถี่ 500 ถึง 2,000 เฮิรตซ์ ที่เป็นความถี่ที่
ครอบคลุมเสียงพูดที่ใช้ในการสื่อสารประจำวัน เหมือน MP3 กับ Audio พอเครื่องแปลงและกรองเสียงผ่านช่อง
สัญญาณดังกล่าว เป็นสัญญาณไฟฟ้า และส่งต่อไปตามเม็ด Electrode ที่ฝั่งในกระดูกก้นหอย 22 เม็ด เพื่อไปกระตุ้น
เส้นประสาทที่รับการได้ยิน และสมองต่อไป

ส่วนที่ฝังอยู่ภายในจะทำตัวเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่แปลงสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปยังเม็ดต่างๆ ที่ฝั่งอยู่ในกระดูกก้นหอย 22 เม็ด และสัญญาณไฟฟ้าจะยิงด้วยความถี่ค่อนข้างสูงมาก มีความถี่ของเสียงต่างๆ ที่แยกเป็นเสียงได้ โดยจะไปกระตุ้นที่เส้นประสาทโดยตรง ส่งไปยังสมอง สมองก็จะรับรู้เสียง และเรื่องที่เราต้องการสื่อสาร จากการสอบถามคนไข้ที่ผ่าตัดแล้วใส่ประสาทหูเทียม เขาเล่าว่าเสียงที่ได้ยินนั้นชัดเจนเหมือนปกติ เมื่อเขาเปรียบเทียบกับหูอีกข้างหนึ่งที่ยังใช้เครื่องช่วยฟัง

ถ้าสามารถบ่ายเบี่ยงวงจรของผู้ป่วย ให้คืนสู่วงจรปกติในโลกของเสียง ยิ่งแก้ไขให้ได้ยินเร็วเท่าไหร่เด็กก็จะสื่อสารได้เร็วเท่านั้น มีโอกาสเรียนในโรงเรียนปกติ ได้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะประมาณ 900,000 บาท ต่อหู 1 ข้าง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากก็ตาม แต่นับว่าคุ้มค่ากับชีวิตที่ต้องดำเนินต่อไปในอนาคต ดังนั้น การผ่าตัดประสาทหูเทียมนั้น ก็เพื่อจะมอบชีวิตใหม่กับผู้พิการทางการได้ยิน ให้สามารถสื่อสารได้ด้วยการได้ยิน ให้มีชีวิตอยู่ในโลกที่ได้ยินเสียง ไม่ใช่อยู่ในโลกที่ไร้เสียง

“ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีเงินในการผ่าตัด ส่วนตัวก็จัดทำโครงการช่วยเหลือไว้หลายโครงการ ที่ผ่านมาก็มีโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อผ่าตัด “ประสาทหูเทียม” ให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน 80 คน ขณะนี้ ได้รายชื่อคนไข้เกือบครบแล้ว สำหรับเป้าหมาย คือ การขยายโอกาสให้กับเด็กพิการมีชีวิตปกติสื่อสารเรียนรู้ได้ ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่จะให้ประโยชน์คุ้มค่าเฉพาะบางกลุ่ม เช่น กลุ่มคนที่เคยพูดได้แล้ว มีวันหนึ่งเกิดอาการหูดับ ไม่ได้ยินเสียง คุยกับผู้คนไม่ได้ จะทำอย่างไร แต่พอได้รับการผ่าตัดประสาทหูเทียมเข้าไป ชีวิตกลับมาได้ยินอีกครั้ง คุณภาพชีวิตก็กลับคืนมา” หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ฯ ร.พ.ราชวิถี กล่าว

การช่วยเหลือคนพิการทางหู ด้วยการใส่ประสาทหูเทียม ไม่สามารถช่วยได้ทุกคน ขึ้นอยู่กับตัวของผู้ป่วยว่ามีความเหมาะสมกับการผ่าตัดหรือไม่ เพราะมีข้อจำกัดที่ต้องมานั่งพิจารณากัน ในกรณีที่เป็นเด็กอายุก่อน 5 ขวบ ถ้าผ่าตัดประสาทหูเทียมจะได้ประโยชน์ทั้งหมด แต่ถ้าเลย 5 ขวบต้องมานั่งดูว่า ฝังประสาทหูเทียมเข้าไปอาจจะได้ยิน แต่สมองส่วนอื่นๆ พัฒนาไปไกลแล้ว สวนทางกับสมองส่วนที่รับรู้เสียงจะช้ากว่าคนอื่น เพราะถูกปล่อยให้อยู่ในโลกเงียบมานาน การได้ยินจากประสาทหูเทียมนั้น จะเริ่มต้นการได้ยินเท่ากันหมด หรือเหมือนคนขวบเดียวเท่ากันนั้นเอง

น.พ.เกียรติยศ อธิบายอีกว่า โดยรวมแล้วผลของการผ่าตัดประสาทหูเทียมนั้น จะขึ้นอยู่กับ 3 ส่วน คือ

1. ตัวประสาทหูเทียม จะต้องทำงานได้ดี ไม่ใช่ใส่เข้าไปแล้วไม่ทำงานหรือทำงาน 1-2 ปีก็เสีย ดังนั้น ต้องเป็นเครื่องที่น่าเชื่อถือได้
2. แพทย์ผู้ที่ทำการผ่าตัดต้องมีการผ่าตัดที่สมบูรณ์แบบ ผ่าแล้วใส่เครื่องเข้าไปฝังอย่างลงตัว ถ้าผ่านสองขั้นตอนนี้ไปได้  การรักษาก็น่าจะผ่านไปประมาณ 30 %
3. ที่เหลือคือคนไข้ ว่าถ้าใส่ประสาทหูเทียมแล้ว เขาต้องการได้ยินมากน้อยแค่ไหน โดยขณะนี้มีผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดไปแล้วกว่า 150 คน และมีผลในการพัฒนาไปในทางที่ดี

นอกจากนี้ ครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการได้ยินของผู้ป่วย ช่วยฝึกฝนไปพร้อมๆ กับการให้กำลังใจ

“การผ่าตัดประสาทหูเทียม ในขณะนี้ถือว่าปลอดภัยมาก ไม่ค่อยมีปัญหาผลข้างเคียงมีโอกาสความสำเร็จสูงมาก ภาวะแทรกซ้อนต่ำ หากคนเป็นหมอเข้าใจดี มีประสบการณ์ผ่าตัดที่ดี ภาวะแทรกซ้อนจะน้อยมาก แต่ในกรณีที่หมอทำการผ่าตัดไม่ได้ก็มีนะครับ ถ้าคนไข้มีความผิดปกติทางกายวิภาคของเขา นั้นก็เป็นข้อจำกัดสำหรับทีมแพทย์”
น.พ.เกียรติยศ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นวิวัฒนาการทางการแพทย์ ที่นำเอาเทคโนโลยีมาบูรณาการกับเทคโนโลยี จนได้อุปกรณ์ที่ใช้ทดแทน ระบบประสาทการได้ยินที่บกพร่องของผู้ป่วย ให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินกลับมาได้ยินเสียงอีกครั้ง โดยการรักษาแบบนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ควบคู่กับคนรอบข้างช่วยให้กำลังใจ ช่วยฝึกพูดอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอ จึงจะทำให้โลกของเสียงที่หายไปกลับมาเหมือนคนปกติได้อย่างมหัศจรรย์ ทำให้ผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินรู้สึกว่าตัวเองมีค่าและมีคุณภาพในการดำรงชีวิต สามารถทำอะไรเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อสังคม และเพื่อประเทศชาติ ได้อย่างเต็มความสามารถต่อไป

บทความโดย น.พ.เกียรติยศ โคมิน / หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
วันที่ : 26 พฤษภาคม 2551

Source : http://www.hopetohear.net/special_story1_ci_doctor.html