เสียง มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และวิถีการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างยิ่งยวด

ตั้งแต่แรกเกิด ทารกก็มีสัญชาตญาณในการใช้เสียงร้องไห้เพื่อแสดงความต้องการ  และเมื่อผ่านผันวันเวลา มนุษย์ก็ได้เรียนรู้วิธีการไขความลับของธรรมชาติ ตลอดจนถ่ายทอดวิถีการดำรงชีวิต ผ่านการใช้เสียงในการสื่อสาร ดังจะเห็นได้จากการอบรมเลี้ยงดูผ่านความรักความเอื้ออาทรของบิดามารดา ญาติพี่น้อง และผู้คนแวดล้อม   จึงนับได้ว่า เสียง มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาภายในเป็นอย่างมาก ทั้งยังช่วยทำให้วิถีการดำรงชีวิตที่ถูกทำนองคลองธรรมตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น และส่งต่อหนุนเนื่องจนกลายเป็นวัฒนธรรมได้อีกด้วย

แต่กระนั้นเอง วิธีการเรียนรู้ดังกล่าวใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกคน…

หากลองนึกถึงบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถือกำเนิดมาพร้อมกับความบกพร่องในการรับรู้ทางเสียง หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า คนหูหนวกนั้น คงมิอาจปฏิเสธได้ว่า ความบกพร่องดังกล่าวนี้ทำให้พวกเขามีข้อจำกัดในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาภายในอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตในมุมที่ใครๆอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน

โดยปกติ คนทั่วไปอาจเข้าใจว่าคนหูหนวกนั้นแม้จะไม่ได้ยินเสียง แต่ก็สามารถที่จะเรียนรู้โลกใบนี้ได้ผ่านการมองเห็น ทั้งคนหูหนวกยังมีภาษามือที่สามารถใช้ในการสื่อสารเช่นเดียวกับที่คนทั่วไปใช้ภาษาพูด  พิจารณาเผินๆ จึงไม่น่ามีอะไรแตกต่างในแง่ของการเรียนรู้โลก

หากแต่ในความเป็นจริง การเรียนรู้วิถีแห่งการดำรงชีวิตในบริบทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เป็นนามธรรมนั้น ไม่อาจถ่ายทอดได้อย่างลึกซึ้งผ่านการรับรู้ด้วยสายตาเพียงช่องทางเดียว   แม้แต่การถ่ายทอดเรื่องราวดังกล่าวด้วยการใช้ภาษามือเองก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้และทำความเข้าใจในความหมายของบาปบุญคุณโทษ คุณธรรม จริยธรรม คนทั่วไปอาจจะค่อยๆ เรียนรู้และทำความเข้าใจความหมายของสิ่งนามธรรมเหล่านี้จากการพร่ำบอก พร่ำสอน ของบิดามารดา ครูอาจารย์ ตลอดจนผู้คนแวดล้อมตั้งแต่เล็กจนโต หรือแม้แต่เวลาที่เราได้มีโอกาสฟังคำสวดมนต์ คำเทศนาของพระสงฆ์ก็ตาม   น้ำเสียงและเนื้อเสียงนั้นไม่เพียงถ่ายทอดเนื้อหาความหมาย แต่ยังช่วยให้เรารับรู้ได้ถึงมนต์ขลังและความศักดิ์สิทธิ์ที่ถ่ายทอดมาพร้อมกันอีกด้วย

สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำว่า เสียง ไม่เพียงถ่ายทอดเนื้อหาเรื่องราว แต่ยังถ่ายทอดพลังที่สามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของผู้ฟัง และเป็นพลังที่ช่วยเกื้อหนุนให้บุคคลเข้าใจในคำสอนเหล่านั้นได้อย่างลึกซึ้ง

หากเสียงดังกล่าวนั้นหาได้สื่อเข้าไปถึงภายในของคนหูหนวกได้แม้แต่น้อย…

สำหรับพวกเขาแล้ว จะมีรูปภาพอันใดที่สามารถอธิบายความหมายของนามธรรมดังกล่าวได้อย่างลึกซึ้ง”

บาปกรรม คุณธรรม จริยธรรมแท้จริงหน้าตาเป็นอย่างไร” สิ่งเหล่านี้ทั้งมองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้

ในเมื่อเสียงอันเป็นสื่อกลางที่มีอานุภาพในการถ่ายทอดนามธรรมนั้น ไม่มีผลอันใดกับพวกเขา และในเมื่อการมองเห็นและการสื่อด้วยภาพต่างก็มีข้อจำกัด พวกเขาจึงต้องใช้วิธีการหรือช่องทางการเรียนรู้ในการพัฒนาจิตใจในอีกรูปแบบหนึ่ง ดังเช่น วิธีการเล่าเรื่อง (Story Telling)

โดยธรรมชาติคนหูหนวกจะรวมกลุ่มเข้าด้วยกันเป็นสังคม เพื่อสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน และเรื่องราวต่างๆที่ว่านี้ยังถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งได้โดยผ่านการเล่าเรื่อง ทั้งนี้ เรื่องที่เล่าด้วยภาษามืออาจมีเนื้อหาสาระไม่แตกต่างจากเรื่องที่เล่าด้วยเสียงทั่วไปมากนัก ทว่า ธรรมชาติอันพิเศษของภาษามือ คือ ภาษาแห่งภาพ ที่สื่อสารผ่านมือทั้งสองข้าง พร้อมด้วยสีหน้า ท่าทาง และการเคลื่อนไหวที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว

อย่างเช่นการเข้าถึงศีล ๕ ผ่านการเล่าเรื่องด้วยละครบทบาทสมมติเพื่อให้คนหูหนวกรับรู้ เข้าใจ ซึมซับ และเชื่อมั่นศรัทธาในคุณค่าของการรักษาศีล การฆ่าสัตว์นั้นเป็นบาป แต่บาปกรรมนั้นเป็นสิ่งไม่มีรูปร่าง พลังแห่งละครเรื่องเล่าจึงนำพาคนหูหนวกเข้าถึงจิตใจภายในด้วยการแสดงออกถึงความรู้สึกของแต่ละฝ่ายผ่านสีหน้าท่าทาง เช่น เราปวดร้าวเพียงใดหากโดนทำร้ายจิตใจร่างกาย ผู้อื่นที่โดนทำร้ายก็มิได้ต่างจากเรา ดังนี้ จึงทำให้เข้าใจกันและกันมากขึ้น

การเล่าเรื่องโดยใช้ภาษามือ จึงเป็นเสมือนการเล่าเรื่องด้วยภาพที่เปี่ยมด้วยชีวิตและความรู้สึก

เรื่องเล่ามีอำนาจในการเข้าถึงจิตใจของผู้ฟังทั่วไปมากเท่าใด ยิ่งมีผลเป็นเท่าทวีคูณแก่คนหูหนวกมากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้   โรงเรียนสอนคนหูหนวกจึงจัดให้มีชั่วโมงการเรียนการสอนที่ให้ครูเล่านิทานสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม และแนวคิดด้านศาสนา โดยผสมผสานเนื้อหาทางวิชาการให้แก่ผู้เรียนเป็นประจำทุกวัน

แน่นอน ทุกเรื่องที่เล่าเป็นนิทานที่ไร้เสียง

อีกประเด็นหนึ่งที่มิอาจจะไม่กล่าวถึงก็คือ บทบาทของเสียงกับการสร้าง สุนทรียภาพทางจิตใจ

ธรรมชาติมิได้สร้างมนุษย์ให้ต่อสู้ดิ้นรนเพียงเพื่อที่จะมีชีวิตรอดบนโลกใบนี้เท่านั้น หากแต่มนุษย์ยังต้องการสุนทรียภาพทางจิตใจ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและมีความสุขไปพร้อมๆกัน   มนุษย์จึงเรียนรู้ที่จะสร้างสุนทรียภาพจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ซึ่งหนึ่งในสุนทรียภาพที่จรรโลงจิตวิญญาณของมนุษย์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันก็คือสุนทรียภาพทางเสียง

มนุษย์พัฒนาเสียงตามธรรมชาติให้กลายเป็นเสียงที่มีจังหวะ มีความไพเราะ สามารถเข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึก และช่วยกล่อมเกลาจิตใจของตนเอง แต่สำหรับคนหูหนวกนั้น พวกเขาจะสามารถรับรู้และสร้างสุนทรียภาพทางเสียงได้อย่างไร?–นั่นเป็นโจทย์ที่ชวนขบคิดไม่เบา

ก่อนจะตอบคำถามนี้ สิ่งที่เราจะลืมเสียมิได้ก็คือ คนหูหนวกแตกต่างจากคนอื่นๆตรงที่เขาไม่ได้ยินเสียงและพูดไม่ได้เท่านั้น หากแต่ความต้องการสุนทรียภาพเพื่อจรรโลงชีวิตและจิตใจก็มิได้แตกต่างจากคนทั่วไปแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้หวังดีหลายท่านพยายามที่จะช่วยให้คนหูหนวกมีโอกาสได้สัมผัสกับสุนทรียภาพเหล่านี้ โดยผ่านประสาทสัมผัสช่องทางอื่นแทน เช่น การรับรู้เสียงดนตรีจากการสัมผัสแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากการเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ   หรือ การรับรู้จังหวะดนตรีผ่านท่าทางของการเคลื่อนไหวที่สอดประสานกายและใจเข้าไว้ด้วยกัน

การได้ยินเป็นเพียงช่องทางหนึ่งของการใช้เสียงเพื่อเป็นสื่อนำสุนทรียภาพจากภายนอกร่างกายเข้าสู่ภายในจิตใจเท่านั้น แต่กระนั้น สุนทรียภาพซึ่งเกิดขึ้นที่จิตใจก็มิได้เกิดจากการสดับผ่านโสตประสาทได้เพียงทางเดียว เพราะฉะนั้น หากเราสามารถค้นพบช่องทางอื่นที่สามารถถ่ายทอดเสียงให้เข้าถึงจิตวิญญาณภายในแล้ว เขาก็จะสัมผัสได้ถึงสุนทรียภาพเหล่านั้นได้ แม้อาจไม่สมบูรณ์เฉกเช่นคนธรรมดาทั่วไป

การไม่ได้ยินเสียงนั้นอาจเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับคนหูหนวกในการสื่อสารและการใช้ชีวิต แต่อุปสรรคที่ว่านี้ก็มิได้ลดทอนคุณค่าของชีวิตพวกเขาแต่อย่างใด ในทางกลับกัน ยิ่งเป็นความท้าทายที่ผลักดันให้พวกเขาต้องสู้ชีวิตมากขึ้น และเป็นแบบอย่างอันทรงคุณค่าให้แก่คนที่มีความสมบูรณ์พร้อมทางกายเสียยิ่งกว่า

ระหว่างคนหูหนวกและคนที่หูไม่หนวกอย่างเราๆ ภาษามือ ภาษาเขียน หรือภาษาท่าทางใดๆ อาจจะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่สำคัญ แต่โปรดอย่าลืมว่าสิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ การสื่อสารด้วยภาษาใจ

ไม่ต้องอาศัยคำหรือสำเนียงเสียงใดๆ

ไม่จำเป็นต้องจินตนาการได้แจ่มชัดว่าโลกที่ไร้เสียงนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

แค่เพียงเราได้เปิดพื้นที่ให้กับพวกเขา ด้วยการเปิดใจของเรา เท่านั้นก็เพียงพอ…

 

Source : http://semsikkha.org/tha/index.php/article/article-1/158-quiet