ประวัติความเป็นมา มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์


การก่อตั้ง

ก่อนปี พ.ศ. 2495 ชีวิตความเป็นอยู่และการศึกษาของคนพิการทางหู ล้วนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสถานะทางครอบครัวเป็นสำคัญ คนพิการทางหูยังไม่ได้รับการดูแลให้การศึกษาโดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ไม่อาจสื่อความเข้าใจกันได้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดอุปสรรคนานับประการ จนกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคนพิการทางหูให้มีสิทธิ ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับคนทั่วไป ดังนั้น จึงได้มีหนังสือเชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมก่อตั้งมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ดังใจความในหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการที่ 171/2495 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2495 กล่าวว่า

“กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณาเห็นว่า คนใบ้หรืออีกนัยหนึ่งคนหูหนวกนั้น ถ้าได้รับการสอนด้วยวิธีพิเศษแล้ว ก็สามารถได้รับการศึกษาและกลับเป็นพลเมืองดีมีประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ เช่นเดียวกับเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย จึงได้เปิดหน่วยสอนคนหูหนวกขึ้นที่ โรงเรียนเทศบาล 17 (วัดโสมนัส) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2494 เป็นการฉลองวันที่ระลึกว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติพร้อมกัน ปรากฏว่าการอนุเคราะห์บุคคลพิการประเภทนี้เป็นการสาธารณกุศลอันเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปด้วย มีผู้บริจาคที่ดินเพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนหูหนวก มีผู้บริจาคทรัพย์บำรุงกิจการของหน่วยนี้เรื่อย ๆ มา  กระทรวงศึกษาธิการจึงดำริว่า  สมควรจะก่อตั้งองค์การสงเคราะห์คนหูหนวกขึ้นเป็นนิติบุคคล  เป็นเอกเทศจากทางราชการ  เพื่อจะได้สามารถเรียกร้องความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนมากขึ้น เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยสนใจในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ได้รับการศึกษา และเพื่อจะเป็นทางหารายได้มาบำรุงกิจการในด้านนี้ เป็นการช่วยเงินงบประมาณแผ่นดินด้วยอีกทางหนึ่ง องค์การนี้จะให้ชื่อว่า  มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก

หน่วยสอนคนหูหนวกดังกล่าวข้างต้นนั้น ได้อาศัยห้องเรียนห้องหนึ่งของโรงเรียนเทศบาล 17 (วัดโสมนัสวิหาร) ได้เปิดขึ้นในวันฉลองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อแรกเปิดเรียน มีนักเรียนทั้งหมด 12 คน ปีต่อมามีนักเรียน 49 คน มาเรียน 2 ผลัด เช้าและบ่าย ม.ร.ว.หญิง เสริมศรี เกษมศรี ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางการสอน คนหูหนวกจากสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหน้าหน่วยสอนคนหูหนวก  และมีครูผู้ช่วย 2 คน

เนื่องจากมีเด็กหูหนวกมาสมัครเรียนเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีสถานที่เรียนของตนเองเป็นเอกเทศและเป็นการถาวร ม.ร.ว.หญิง เสริมศรี จึงได้ติดต่อขอบริจาคสถานที่จากผู้มีจิตศรัทธาในการสงเคราะห์เด็กหูหนวก และคุณหญิงโต๊ะ นรเนติบัญชากิจ ได้มีจิตศรัทธายกที่ดิน เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน กับตึกที่อาศัย (ราคาขณะนั้น 2,500,000 บาท)  ณ บ้านเลขที่ 137  ถนนพระราม 5  ตำบลนครไชยศรี อำเภอดุสิต ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนสอนคนหูหนวก โดยกำหนดให้ทรัพย์สินดังกล่าว  เป็นนิติบุคคล ชื่อว่า “มูลนิธิเศรษฐเสถียร” เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งตระกูล “เศรษฐบุตร” ซึ่งเป็นนามสกุลของพระยานรเนติบัญชากิจ และตระกูล “โชติกเสถียร” อันเป็นนามสกุลเดิมของคุณหญิงโต๊ะเอง  มูลนิธิเศรษฐเสถียรมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดสร้างโรงเรียนสอนคนหูหนวก  และหาผลประโยชน์บำรุงโรงเรียนนี้

จากความมุ่งหมายดังกล่าวของกระทรวงศึกษาธิการดังปรากฎในหนังสือ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2495 จึงได้เชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิให้ร่วมก่อตั้ง  มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้กรุณารับเป็นประธานมูลนิธิฯ และ ฯพณฯ จอมพล  ป. พิบูลสงคราม ได้อุทิศเงินในการทำบุญคล้ายวันเกิดจำนวน 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) เป็นทุนก่อตั้งมูลนิธิฯ

มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม  2495 ได้หมายเลขทะเบียนที่ 112 สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ ณ  บ้านเลขที่  137  ถนนพระราม 5  ตำบลถนนนคร-ไชยศรี อำเภอดุสิต คือที่โรงเรียนสอนคนหูหนวก โดยคณะกรรมการมีความเห็นว่า

“เห็นสมควรจะให้โรงเรียนสอนคนหูหนวก เป็นแหล่งรวมกำลังขององค์การต่างๆ ที่จะดำเนินการสงเคราะห์แก่คนหูหนวกในประเทศไทยต่อไป  จึงได้ขอให้ใช้สำนักงานแห่งเดียวกัน  เพื่อความสะดวก  ถนัด  รวบรัด  รวดเร็ว  ในการดำเนินงานในอนาคต”

ได้รับพระบรมราชินูปถัมภ์

มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์อย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี พ.ศ. 2507

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์แก่มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก  เมื่อวันที่  12  สิงหาคม  2507 นับได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่เปรียบมิได้  ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  มูลนิธิฯ ก็ได้ชื่อว่า “มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก  ในพระบรมราชินูปถัมภ์”

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ  มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์  ได้รับความร่วมมือร่วมใจ สนับสนุนและช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและการเงินจากบุคคล  องค์การและหน่วยงานหลายฝ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ   ทำให้งานของมูลนิธิฯ  ดำเนินมาโดยราบรื่นและกว้างขวางยิ่งขึ้น  สามารถให้การสนับสนุนคนหูหนวกในด้านการศึกษาระดับประถมศึกษา  และมัธยมศึกษาตอนต้น  อาหารกลางวัน เครื่องนุ่งห่ม สังคม  และการฝึกอาชีพตามสมควร  ทั้งยังได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการอบรมครู  เพื่อให้มีความสามารถสอนคนหูหนวกอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

คณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์

1) นายศุขสนั่น โชติกเสถียร        ประธานกรรมการ
2) ผศ. วัลลีพันธุ์ สถิตยุทธการ    รองประธานกรรมการ
3) นางขจิตพรรณ ไทยเพ็ชร       รองประธานกรรมการ
4) พล.ต.ท. หญิง พจนี สุนทรเกตุ กรรมการ
5) พลตรีหญิง นงพงา ข่มไพรี   กรรมการ
6) นางทัศนีย์ ชาญวีรกูล          กรรมการ
7) นางภาวนา โชติกเสถียร        กรรมการ
8) นางสาวญาดา ชินะโชติ         กรรมการ
9) นางสาวอินทรามาตี้ โจคานิ       กรรมการ
10) นางสาวปรารถนา จริยวิลาศกุล  กรรมการ
11) นายธงชัย ณ นคร             เหรัญญิก
12) ดร. มลิวัลย์ ธรรมแสง        เลขาธิการ

Previous Next
Close
Test Caption
Test Description goes like this