โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนชราหูหนวก พร้อมล่ามภาษามือเพื่อการสื่อสาร

หลักการและเหตุผล

ในอดีตครอบครัวคนไทยผูกพันกันเหนียวแน่น และมีความเอื้ออาทรเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน อันเป็นลักษณะเด่น สำหรับครอบครัวที่มีคนหูหนวกเป็นสมาชิกในครอบครัวโดยส่วนใหญ่จะให้การดูแลทางด้านปัจจัยสี่ ได้แก่ เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย อาหาร และยาเป็นสำคัญ แต่อาจขาดการดูแลที่จะสนับสนุนให้สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง เช่น ขาดการศึกษา ขาดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม เป็นต้น ทำให้คนหูหนวกที่เข้าสู่วัยชราในปัจจุบันยังคงต้องการการดูแลจากสังคม

เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายของคนชราหูหนวก จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายการแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ และล่ามภาษามือ ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนชราหูหนวก มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงมีแผนที่จะเป็นองค์กรกลางที่จะช่วยประสานความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ ดังกล่าว เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงคนชราหูหนวกอย่างทั่วถึงและเหมาะสม โดยการนำบริการทางด้านสุขภาพให้เข้าถึงกลุ่มคนชราหูหนวกทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค โดยโครงการจะเป็นผู้ประสานงานและช่วยสนับสนุนล่ามภาษามือเพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและคนชราหูหนวก

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อดูแลสุขภาพของคนชราหูหนวก

2. เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลคนชราหูหนวก

 

กลุ่มเป้าหมาย

คนชราหูหนวกทุกคน

 

วิธีการดำเนินการ

1. จัดทำโครงการและแผนดำเนินการ เพื่อจัดหาทุนสนับสนุน

2. จัดทำทะเบียนคนหูหนวกที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

3. ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ที่มีคนชราหูหนวกเพื่อการบริการสุขภาพ

4. ประสานล่ามภาษามือในแต่ละพื้นที่เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ให้บริการสุขภาพ

5. สรุปและประเมินผลการดำเนินงาน

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. คนชราหูหนวกมีสุขภาพที่ดี

2. มีระบบการให้บริการสุขภาพแก่คนชราหูหนวก โดยมีล่ามภาษามือเพื่อช่วยการสื่อสาร

Previous Next
Close
Test Caption
Test Description goes like this