มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาล่ามภาษามือ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาคนพิการ จัดโครงการฝึกอบรมวิธีการสอนพูดผ่านการฟังสำหรับครูการศึกษาพิเศษ รุ่นที่ 2 ดำเนินการจัดโครงการโดย ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง ประธานฝ่ายวิชาการ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาล่ามภาษามือ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.วีณัฐ สกุลหอม คณบดีคณะครุศาสตร์ เป็นประธานเปิดโครงการ และได้รับเกียรติจาก ดร.พะโยม ชิณวงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและประธานกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาคนพิการมาตรวจเยี่ยมโครงการ โดยมีครูการศึกษาพิเศษจากศูนย์การศึกษาพิเศษ 12 จังหวัด และครูสอนพูดในโรงเรียนโสตศึกษาจำนวน 3 โรงเรียนเข้าร่วมอบรมระหว่างวันที่ 11-17 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ณ ห้องประชุมกาหลา โรงแรมสวนดุสิต เพลส มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของคนหูหนวกในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 หนึ่งในพันธกิจที่มูลนิธิ ฯ ให้ความสำคัญ คือการส่งเสริมประสิทธิภาพด้านการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อการพัฒนาการศึกษาของคนหูหนวก ปัจจุบัน “การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม” เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยให้เด็กหูหนวกสามารถเรียนรู้ผ่านการได้ยิน เรียนรู้ภาษาพูด และเข้าศึกษาในหลักสูตรเดียวกันกับเด็กที่มีการได้ยินปกติ ประสิทธิภาพของวิทยาการนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกฯ ได้ให้การสนับสนุนทุนการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมให้แก่เด็กหูหนวกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 120 คนทั่วประเทศ และเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประกาศให้การคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดและการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมรวมอยู่ในสิทธิบัตรทองด้วย ดังนั้น ประเทศไทยจะมีเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมจำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เด็กที่ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการฟัง และเรียนรู้ภาษาพูด มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกฯ จึงจัดทำ “โครงการการฝึกอบรมวิธีการสอนพูดผ่านทักษะการฟังสำหรับครูการศึกษาพิเศษ รุ่นที่ 2” ขึ้น เพื่อให้ครูการศึกษาพิเศษมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการสูญเสียการได้ยินในเด็ก การใช้ประสาทหูเทียม การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินโดยใช้หลักการ Auditory Verbal Approach การทำงานร่วมกับผู้ปกครอง การจัดห้องเรียนและอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการฝึกอบรมเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมให้สามารถพัฒนาการฟังและการพูดได้ดียิ่งขึ้น