แม้บริบททางสังคมในปัจจุบันจะเอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่าคนหูหนวกมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน โดยเฉพาะการได้รับโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ แต่…จะมีอะไรที่ดีไปกว่าการได้รับโอกาสกลับมาได้ยินเหมือนกับคนทั่วไป


อยู่ที่การตัดสินใจอย่างรอบคอบ ด้วยการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมแล้ว ผู้ที่มีฐานะดีส่วนมากก็คงจะรีบตัดสินใจรับการผ่าตัดประสาทหูเทียมแม้จะต้องแลกกับค่าผ่าตัด และค่าอุปกรณ์รวมกันแล้วเฉียดล้านต่อ 1 ข้างก็ตาม “พ่อ แม่ที่มีลูกหูหนวก พอได้ยินว่ามีการผ่าตัดรักษาประสาทหูเทียมได้นี่ จะดีใจมาก ดีใจเหมือนถูกหวยเลย รางวัลที่หนึ่งด้วย เพื่อนๆ เขาที่ไม่ได้ผ่าส่วนใหญ่ก็เพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว มันแพงมาก ผมโชคดีหน่อยที่ทำธุรกิจแล้วจังหวะเศรษฐกิจดี หาเงินได้ ลูกผมก็เลยได้ผ่า”

นี่เป็นเพียงบางส่วนของคำบอกเล่าจากผู้ที่เข้าร่วมให้ข้อมูลในโครงการวิจัยเรื่อง “การประเมินเทคโนโลยีการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม : มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ และสังคม” ที่ดำเนินการโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขโครงการวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาถึงความคุ้มค่าของการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในคน 3 กลุ่มคือ กลุ่มเด็กหูหนวกสนิททั้งสองข้างที่ไม่เคยมีภาษาพูดมาก่อน กลุ่มผู้ใหญ่หูหนวกสนิททั้งสองข้างที่ไม่เคยมีภาษาพูดมาก่อน และกลุ่มผู้ใหญ่หูหนวกสนิททั้งสองข้างที่เคยได้ยินและมีภาษาพูดมาก่อน นอกจากนี้ยังนำเสนอภาระงบประมาณของรัฐบาล หากบรรจุการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเข้าไว้ในชุดสิทธิประโยชน์ อีกทั้งยังศึกษาถึงมุมมองทางสังคมของผู้ที่ตัดสินใจผ่าตัดประสาทหูเทียมและผู้ที่ตัดสินใจไม่ผ่าตัดประสาทหูเทียมด้วย


ความคุ้มค่าของเทคโนโลยีและภาระงบประมาณของรัฐ

อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับว่าเครื่องประสาทหูเทียมมีประโยชน์จริงในการช่วยให้ผู้ที่หูหนวกสนิทสามารถกลับมาได้ยินอีกครั้ง แต่จากข้อจำกัดอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลของการผ่าตัดค่าเครื่อง การดูแลรักษาเครื่อง รวมทั้งการฝึกฟังและพูดหลังจากการผ่าตัด ทำให้ผู้ที่เข้าถึงเทคโนโลยีชนิดนี้ยังมีจำนวนไม่มากนัก

ประกอบ กับปัจจุบันมีเพียงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเท่า นั้นที่เบิกจ่ายค่าผ่าตัดได้ตามที่จ่ายจริงรวมกับค่าเครื่องประสาทหูเทียม อีกไม่เกิน 850,000 บาท ส่วนผู้ประกันตนในโครงการประกันสังคม และผู้มีสิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ยัง ไม่สามารถเบิกจ่ายได้หากจะถามว่าเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้วหน่วย งานอย่างสำนักงานประกันสังคมที่ดูแลกองทุนประกันสังคม กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดูแลผู้ถือสิทธิบัตรทองอยู่นั้นควรจะให้สิทธิเบิกจ่ายที่เท่าเทียมกับสวัสดิการข้าราชการหรือไม่

ผลการศึกษาของโครงการวิจัยข้างต้นพบว่า ไม่คุ้มค่าที่รัฐบาลจะให้สิทธิเบิกจ่ายการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในทุกกองทุนสุขภาพ ของประเทศ เพราะตามที่กล่าวไปแล้วว่าเพียงแค่ค่าผ่าตัดและค่าเครื่องฯ รวมกันแล้วเฉียดล้าน ยังไม่รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่จะตามมาภายหลังการผ่าตัดอีก เช่น ค่าฝึกฟังและพูด ค่าแบตเตอรี่ที่ต้องเปลี่ยนเป็นประจำอย่างต่อเนื่องหากมีการเปิดเครื่องประสาทหูเทียมใช้ ทุกวันคิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาทต่อปี ค่าซ่อมบำรุงและค่าอะไหล่ต่างๆ ที่ต้องจ่ายเมื่อสิ้นสุดการรับประกันจากบริษัท ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี ซึ่งหากรัฐบาลจะสนับสนุนการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฝึกฟังและพูดในช่วงปีแรก จะต้องมีภาระงบประมาณอยู่ที่ประมาณ 977,000 บาทต่อผู้ป่วย 1 รายเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบภาระงบประมาณกันภายในกลุ่มที่รับการผ่าตัด 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเด็กหูหนวกสนิททั้งสองข้างที่ไม่เคยมีภาษาพูดมาก่อน กลุ่มผู้ใหญ่หูหนวกสนิททั้งสองข้างที่ไม่เคยมีภาษาพูดมาก่อน และกลุ่มผู้ใหญ่หูหนวกสนิททั้งสองข้างที่เคยได้ยินและมีภาษาพูดมาก่อน พบว่าการผ่าตัดประสาทหูเทียมในกลุ่มเด็กมีความคุ้มค่ามากกว่าอีกสองกลุ่ม

ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะให้บริการกับคนหูหนวกในกลุ่มนี้ทั้งหมดซึ่งในขณะที่ทำการศึกษามีเด็กหูหนวกสนิททั้งสองข้างที่ไม่เคยมีภาษาพูดมาก่อน อายุระหว่าง 2-18 ปี จำนวนทั้งสิ้น 134,907 คน นั้น อาจต้องทยอยให้บริการเพื่อไม่ให้กระทบกับงบประมาณของรัฐในปีใดปีหนึ่งมาก เกินไป ซึ่งการศึกษานี้ได้สมมุติให้รัฐบาลสามารถให้บริการได้ทั้งหมดภายใน 2 ปี พบว่าจะมีค่าใช้จ่ายในภาครัฐถึง 66,000 ล้านบาท และ 72,000 ล้านบาท ในการให้บริการปีที่ 1และ 2 ตามลำดับ สำหรับปีต่อๆ ไปรัฐบาลจะมีภาระงบประมาณ5,000 ถึง 6,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับให้บริการผู้หูหนวกรายใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 5,053 คนต่อปี

อย่างไรก็ตามในการศึกษายังได้คำนวณเพิ่มเติมในกรณีที่รัฐบาลตัดสินใจให้บริการเพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการทั้งหมดพบว่าจะต้องเตรียมงบประมาณเป็นจำนวน 66,000 ล้านบาท ในปีแรกและลดลงเหลือ 36,000 ล้านบาท และ 21,000 ล้านบาทในปีที่ 2 และ 3 ตามลำดับ


แง่คิดด้านสังคม

ด้วยค่าใช้จ่ายที่แพงลิบลิ่ว ทำให้ผู้ที่ตัดสินใจผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมไปแล้วรวมถึงคนรอบข้าง ย่อมมีความคาดหวังต่อประสิทธิผลของเทคโนโลยีสูงตามไปด้วยเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงผู้ที่ได้รับการผ่าตัดจะสามารถกลับมาฟังและพูดได้ดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการได้รับการฝึกฟัง และพูด และปรับจูนเครื่องประสาทหูเทียมหลังจากผ่าตัด

นอกจากนี้การผ่าตัดในผู้ที่หูหนวกบางกลุ่มที่มีการสื่อสารด้วยภาษามือ การอ่านริมฝีปาก หรือการเขียนแทนภาษาพูดไปแล้วก็อาจเกิดประโยชน์ได้น้อย เพราะคนกลุ่มนี้มักเกิดความเบื่อหน่ายต่อการฝึกพูด และฟัง เนื่องจากสามารถใช้วิธีการสื่อสารที่ตนถนัดมาก่อนหน้านี้ได้สะดวกและรวดเร็วกว่า หรือบางรายอาจเกิดปัญหาในการเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนกลุ่มเดิมที่หูหนวก

ดังเช่นผู้ที่เข้าร่วมให้ข้อมูลในโครงการวิจัยรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า “มี เพื่อนหูหนวกคนหนึ่งที่ใช้ภาษามือได้ดีตัดสินใจไปผ่าตัดหลังผ่าแล้ว เพื่อนคนนั้นก็กลายเป็นคนไม่ค่อยพูดค่อยจากับใครกลายเป็นคนเก็บตัว เหมือนหายสาบสูญไปจากเพื่อนๆ เลย”

ในบางกรณีที่ผู้ปกครองมองว่าการสูญเสียการได้ยินของลูกเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข และตัดสินใจให้ลูกเข้ารับการผ่าตัดโดยไม่ได้ถามความสมัครใจของลูกก่อนจนในที่สุดเมื่อผ่าตัดแล้วลูกเกิดการไม่ยอมรับ และไม่ใช้เครื่องในที่สุด ดังกรณีตัวอย่างรายหนึ่งในการศึกษาที่กล่าวว่า “เราสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องมาฝึกให้เสียเวลา”

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดในผู้ที่มีอายุน้อย มีความพร้อมในการได้รับการฝึกฟัง และพูดหลังการผ่าตัด และผู้ที่เคยมีภาษาพูดมาก่อนแล้วยังไม่หลงลืมภาษาเหล่านั้นไป จะทำให้การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเกิดประโยชน์สูงสุดได้เช่นกัน ดังกรณีตัวอย่างหลายกรณีที่เล่าประสบการณ์ เช่น “ถ้าถามว่าคุ้มไหมที่ให้ลูกผ่าตัดก็คิดว่าคุ้ม เพราะก่อนผ่าตัดประสาทหูเทียมกับลูกที่ไม่ได้ยินเลย หลังผ่าตัดประสาทหูเทียมแล้วเวลาเรียกเขาก็ได้ยิน เขาเรียนในโรงเรียน เรียนร่วมได้ ซึ่งก่อนผ่าตัดประสาทหูเทียมเขาต้องเรียนแยกตลอด”

หรือในกรณีนี้ที่เล่าว่า “คิด ว่าสิ่งที่คุ้มที่สุดก็คือสุขภาพจิตสมัยก่อนเวลาจะไปติดต่อพบปะพูดคุยกับใครจะกังวล และเครียดมาก ถ้าเลี่ยงได้ก็จะเลี่ยง อย่างเพื่อนชวนไปกินข้าวเนี่ยก็ไม่ไปแล้วแต่ถ้าจำเป็นเรื่องงานก็ต้องหาคน ที่เข้าใจเราไปกับเราด้วย เพราะกลัวว่าถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องจะทำยังไง… ความมั่นใจหลังผ่าตัดก็ดีขึ้นเพราะปมมันหมดไป มั่นใจว่าเราจะอยู่ด้วยตัวเองได้อีกครั้ง พอเป็นอย่างนี้ก็รู้สึกว่าสุขภาพกายก็ไม่กังวลแล้ว ใจดีกายก็ดี ใจไม่ดีกายก็เหี่ยว”

จะเห็นได้ว่าแม้การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมจะช่วยให้ผู้ที่หูหนวกกลับมาได้ยิน เหมือนกับคนทั่วไปได้ แต่ก็ยังมีข้อที่ควรคิดพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจมากมาย ทั้งความพร้อมในเรื่องภาระค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าเครื่อง ค่าผ่าตัด ค่าแบตเตอรี่ และค่าบำรุงรักษา ความพร้อมในเรื่องของเวลาที่จะต้องเข้ารับการฝึกฟังและพูดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความพร้อมทางด้านจิตใจของผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดเองด้วย

และสุดท้ายต้องไม่ลืมว่าการขวนขวายเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้เทคโนโลยีนั้นมีความสุขมากขึ้นเสมอไป คำตอบสุดท้ายของหลายกรณี กลับอยู่ที่การมีความสุขกับกลุ่มคนที่มีอะไรเหมือนกัน คุ้นเคยกัน ใช้การสื่อสารด้วยภาษามือ การอ่านริมฝีปาก และการเขียนแบบที่เป็นอยู่ โดยไม่ต้องควักเงินก้อนโตเพื่อแลกมาแต่อย่างใด


ขอขอบคุณบทความดีๆจาก INTIMEX  http://www.intimexhearing.com/index.php/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%AB%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87/item/112-2014-02-04-04-14-07.html