โครงการทุนอาหารกลางวัน อุปกรณ์การศึกษา และครูพี่เลี้ยงหูหนวก ในโรงเรียนโสตศึกษาทั่วประเทศ
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันมีโรงเรียนสอนคนหูหนวกหรือที่เรียกว่า “โรงเรียนโสตศึกษา” จำนวน 20 โรงเรียน ทั่วประเทศ ซึ่งทั้งหมดเป็นโรงเรียนที่อยู่ในความดูแลของภาครัฐ มีจำนวนนักเรียนหูหนวกประมาณ 7,000 คน โรงเรียนโสตศึกษาจำเป็นต้องมีหลักสูตรเฉพาะ พร้อมทั้งอุปกรณ์สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กหูหนวก เนื่องจากปัญหาในการสื่อสาร จึงต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดแคลนงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้อีกมาก
เนื่องจากโรงเรียนโสตศึกษาทั้งหมดจะรับนักเรียนหูหนวก ทั้งแบบประจำ และไป-กลับ โดยอัตราแรงงานของครูผู้สอนจึงไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็กหูหนวก ทั้งในเวลาเรียนและนอกเวลาเรียน ครูพี่เลี้ยงจึงแรงงานสำคัญในการช่วยเหลือครูผู้สอนและเด็กนักเรียนหูหนวก ซึ่งครูพี่เลี้ยงดังกล่าวจำเป็นต้องมีทักษะในการใช้ภาษามือ เพื่อเป็นการส่งเสริมอาชีพให้แก่คนหูหนวกจึงพิจารณาที่จะให้คนหูหนวกเข้ามาช่วยเป็นครูพี่เลี้ยง แต่ด้วยปัญหาที่โรงเรียนโสตศึกษาไม่มีอัตราจ้างและงบประมาณในการจ้าง มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จึงช่วยสนับสนุนงบประมาณเพื่อการนี้
นอกจากนี้โรงเรียนโสตศึกษาต่างๆ ยังต้องการการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดหาอาหารที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนหูหนวก เพราะจากสภาพความเป็นจริงพบว่า เด็กพิการทางหูนั้นจะอยู่ในครอบครัวที่ยากจน และความไม่สะดวกในการซื้อหาอาหารกลางวันรับประทานเอง ทางโรงเรียนจึงเป็นผู้ดูแลเรื่องอาหารกลางวันให้กับนักเรียนทั้งหมด ทำให้ต้องจัดหางบประมาณเพื่อการนี้มาโดยตลอด การกำหนดโครงการทุนอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนโสตศึกษาแต่ละโรงเรียนจึงจะช่วยให้เกิดการต่อยอดในการจัดหาอาหารที่มีคุณภาพให้กับนักเรียนหูหนวกได้อย่างต่อเนื่อง
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อสร้างเสริมสุขภาพของเด็กนักเรียนหูหนวกจากการได้รับโภชนาการที่เหมาะสม
2. เพื่อสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์การศึกษาให้กับโรงเรียนโสตศึกษา
3. เพื่อสนับสนุนครูพี่เลี้ยงหูหนวกให้กับโรงเรียนโสตศึกษา
กลุ่มเป้าหมาย
โรงเรียนโสตศึกษา 20 แห่ง ทั่วประเทศ
วิธีการดำเนินการ
1. จัดทำโครงการและแผนดำเนินการ เพื่อจัดหาทุนสนับสนุน
2. ประสานงานกับโรงเรียนโสตศึกษาทั่วประทศ เพื่อกำหนดความต้องการการสนับสนุนในเรื่อง ทุนอาหารกลางวัน อุปกรณ์การศึกษา และอัตราครูพี่เลี้ยงหูหนวก
3. สรุปงบประมาณที่จะช่วยสนับสนุนในแต่ละโรงเรียน
4. สรุปและประเมินผลการดำเนินงาน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
เด็กนักเรียนหูหนวกในโรงเรียนโสตศึกษาทั่วประเทศได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ โดยมีสุขภาพที่ดี
การประเมินผล
ประเมินผลการดำเนินโครงการปีละครั้ง โดยการประเมินผลจาก
– รายงานการดำเนินโครงการทุนอาหารกลางวันของแต่ละโรงเรียน
– รายงานผลการศึกษาของเด็กหูหนวกในแต่ละปีการศึกษา
– การเยี่ยมชมโครงการของแต่ละโรงเรียน