ติดต่อมูลนิธิฯ

บริการทำความสะอาดประสาทหูเทียมให้นักเรียน รร. เศรษฐเสถียรฯ

Categories: ข่าวประชาสัมพันธ์Tags: , , , on

[ข่าวกิจกรรม]
21 มิถุนายน 2565 มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดให้บริการทำความสะอาดเครื่องประสาทหูเทียมให้แก่นักเรียนโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ และให้คำแนะนำกับผู้ปกครองของนักเรียนเกี่ยวกับการดูแลรักษาเครื่องประสาทหูเทียมจำนวน 4 รายโดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เฮียร์ไลฟ์ จำกัด ส่งเจ้าหน้าที่มาให้บริการที่ศูนย์สาธิตและพัฒนาเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียม (DDCC) 

หนูอยากได้ยินเสียงแม่ รุ่นที่ 9

Categories: ข่าวประชาสัมพันธ์Tags: , , , , on


โอกาสดีๆ มาถึงแล้วค่ะ!
ชิญลงทะเบียนขอรับทุนผ่าตัดประสาทหูเทียม โดยการเข้าสัมภาษณ์ รับความรู้ ทราบทางออกสำหรับลูกน้อยอายุ 0-3 ปี ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน (หรือมีผลคัดกรองการได้ยินไม่ผ่านมากกว่าสองรอบ) ในวันที่ 2 เมษายน ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ เวลา 8.00-14.30 น. ลงทะเบียนเข้างานได้เลยที่ ไลน์ @IHearMom หรือ โทร 081-104-3030 ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
ประสาทหูเทียมจะสามารถเปลี่ยนอนาคตลูกน้อยให้ได้ยิน และสามารถใช้ภาษาพูดในการสื่อสารได้ เปิดโอกาสให้ลูกน้อยได้รับโอกาสในชีวิต ตั้งแต่วันนี้…
#หนูอยากได้ยินเสียงแม่ #ประสาทหูเทียม #CochlearThailand

จัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์ประสาทหูเทียมและการทำความสะอาดประสาทหูเทียม

Categories: ข่าวประชาสัมพันธ์Tags: , , , on

[ข่าวกิจกรรม]
วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดกิจกรรมให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุปกรณ์ประสาทหูเทียมและการทำความสะอาดประสาทหูเทียมให้กับครูอาจารย์โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ โดยมีการแบ่งกลุ่มปฏิบัติเพื่อให้ครูอาจารย์ได้ทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ โดยมีคุณจีรัชญธะพัฒน์ คำภีระ และคุณเบญจมาศ เกษมศรี ณ อยุธยา เจ้าหน้าที่บริษัทศูนย์บริการเครื่องช่วยฟังอินทิเม็กซ์ จำกัด เป็นวิทยากร ในช่วงท้ายของกิจกรรม นายวิรัช ภู่เล็ก รองผู้อำนวยการโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ ได้มอบของที่ระลึกให้กับทางบริษัทฯ ด้วย

บริการล้างทำความสะอาดเครื่องประสาทหูเทียมให้กับนักเรียนโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ

Categories: ข่าวประชาสัมพันธ์Tags: , , , , , on

[ข่าวกิจกรรม]
วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ร่วมกับบริษัทศูนย์บริการเครื่องช่วยฟังอินทิเม็กซ์ จำกัด จัดบริการล้างทำความสะอาดเครื่องประสาทหูเทียมให้กับนักเรียนโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ จำนวน 5 คน และให้คำแนะนำกับผู้ปกครองของนักเรียนเกี่ยวกับการดูแลรักษาเครื่องประสาทหูเทียม ที่ศูนย์สาธิตและพัฒนาเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียม มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ 

ศูนย์สาธิตและพัฒนาเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียม

Categories: บทความที่น่าสนใจTags: , , , , , , on

                                 
                      หลักการและเหตุผล

            จากการสำรวจความพิการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2560 พบว่ามีคนพิการจำนวน 3.7 ล้านคน หรือร้อยละ 5.5 ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้มีคนพิการทางการได้ยินซึ่งเป็นผู้พิการที่มีจำนวนมากเป็นอันดับที่สองเป็นร้อยละ 18.65 ของคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการทั้งหมด (372,189 คน) ส่วนอัตราอุบัติการของการสูญเสียการได้ยินยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด 

            ศ. เกียรติคุณ พญ. สุจิตรา ประสานสุข พบว่ามีความชุกของคนหูหนวกที่ร้อยละ 0.2-0.5 และโครงการทะเบียนประสาทหูเทียมพบว่าทารกแรกเกิดและมีชีพในปี 2560 จะมีเด็กหูหนวกประมาณ 328 คนต่อปี หากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการคัดกรองและให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้องเหมาะสม เด็กเหล่านี้จะพลาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับศักยภาพ ส่งผลให้ครอบครัวต้องรับภาระการที่มีเด็กที่พิการทางการได้ยิน ขาดการสื่อสารที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของเด็ก และความพร้อมของครอบครัวส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก ครอบครัว และสังคม

          ปัจจุบันการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างการได้ยินให้กับผู้ที่สูญเสียการได้ยินตั้งแต่กำเนิดและภายหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่ประจักษ์และได้รับความเชื่อถือ ดังจะเห็นได้จากการที่กรมบัญชีกลางอนุมัติค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ประสาทหูเทียมให้แก่ผู้มีสิทธิเบิกจ่ายทางราชการได้ แต่ก็ยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สิทธิ์ได้รับการอนุเคราะห์จากทางราชการ  มูลนิธิฯ จึงได้จัดโครงการสนับสนุนค่าจัดหาอุปกรณ์ประสาทหูเทียมให้เด็กบกพร่องทางการได้ยินที่ผ่านการตรวจวินิจฉัยจากทางการแพทย์ และการคัดกรองจากนักสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลต่าง ๆ ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมในการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ควรได้รับการพิจารณาสนับสนุน

           โครงการ หนูอยากได้ยินเสียงแม่ ของมูลนิธิฯ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2547 และทุก ๆ ปีมูลนิธิฯ ได้พิจารณาสนับสนุนทุนในการผ่าตัดประสาทหูเทียมมาอย่างต่อเนื่อง เด็กหูหนวกคนแรกที่ได้รับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมคนแรกของโครงการหนูอยากได้ยินเสียงแม่คือ นางสาวประทุมวรรณ สัตถาผล หรือน้องฟ้าใส ปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

           จากการศึกษาวิจัยเรื่องการประเมินความพร้อมของระบบสุขภาพในการให้บริการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพในประเทศไทย (2562) พบว่าการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมมีความคุ้มค่ามากที่สุดในเด็กเล็ก และการตัดสินใจของผู้ปกครองเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่สำคัญมาก ตลอดจนความคาดหวังที่สมเหตุสมผลในประสิทธิผล และความสามารถในการใช้การได้ยินจากประสาทหูเทียมอย่างเต็มศักยภาพนั้นขึ้นอยู่กับการที่พ่อแม่ผู้ปกครองครูและผู้ที่เกี่ยวข้องทางการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินและการจัดการศึกษามีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมที่ถูกต้องเป็นสำคัญ

           แม้ว่าการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในประเทศไทยจะเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2528 โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นเวลา 35 ปีมาแล้วก็ตาม ประเทศไทยก็ยังไม่มีศูนย์สาธิตและพัฒนาเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมของทางราชการ ที่ประชาชนทั่วไปตลอดจนพ่อแม่ของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อการตัดสินใจในการให้บุตรหลานใช้ประสาทหูเทียมหรือไม่อย่างถูกต้องโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

          มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะที่เป็นองค์กรหลักในการให้การสนับสนุนให้พ่อแม่ของเด็กหูหนวกและหูตึงรุนแรงมีทางเลือกในการสื่อสารการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนหูหนวกตลอดมา จึงเห็นความสำคัญของการมีศูนย์สาธิตและพัฒนาเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมในสถานศึกษา ซึ่งสถานศึกษาดังกล่าวอาจเป็นศูนย์การศึกษาพิเศษที่ให้บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มแก่เด็กพิการของกระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์บริการทางการศึกษาของรัฐและเอกชนหรือโรงเรียนโสตศึกษาทั่วไป เพื่อเป็นการเผยแพร่แนวคิดก่อนการตัดสินใจ เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินต่อไป

                   วัตถุประสงค์

  • เพื่อเป็นศูนย์สาธิตการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินสำหรับเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมและครอบครัว ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากมูลนิธิฯและเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมทั่วไป
  • เป็นศูนย์สาธิตวิธีการสอนพูดโดยใช้ทักษะการฟัง (Auditory Verbal Teaching) สำหรับเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมในสถานศึกษา
  • เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ สำหรับเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมและครอบครัว ทั้งทางด้านข้อมูลข่าวสาร การให้คำปรึกษา การสนับสนุนด้านการจัดหาอุปกรณ์ช่วยการได้ยิน การปรับเครื่องประสาทหูเทียม และการแนะแนวการศึกษา
  • เป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ด้านการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มสำหรับครอบครัวของเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมในประเทศไทย

                      กลุ่มเป้าหมาย

  • เด็กที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนทุนในการจัดหาเครื่องประสาทหูเทียมแต่ละปีประมาณ 20 ราย และเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมที่ประสงค์จะเข้ารับการพัฒนา
  • เด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมที่ต้องการได้รับการฝึกพูดโดยใช้ทักษะการฟังในโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ จำนวน 13 คน
  • พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กหูหนวกที่ประสงค์จะใช้เทคโนโลยีประสาทหูเทียมในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้และการศึกษา ปีละ 100 คน

                      ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • ได้มีศูนย์สาธิตและพัฒนาเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมในสถานศึกษาเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
  • ผู้ปกครองที่ใช้ประสาทหูเทียม ได้รับบริการแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว โดยได้รับข้อมูลข่าวสาร คำปรึกษาและบริการที่จำเป็นเกี่ยวกับการพัฒนาทางเลือกในการสื่อสารการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและสอดคล้องกับเศรษฐสถานะของผู้ปกครอง
  • บุคลากรที่ประสงค์และมีหน้าที่ในการพัฒนาทักษะการฟังและการพูดสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมได้รับการฝึกทักษะและพัฒนาเต็มตามศักยภาพ

                       ตัวชี้วัดความสำเร็จ

         เป้าหมายของโครงการนี้คือ เป็นศูนย์สาธิตและพัฒนาเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมในสถานศึกษาที่ให้บริการคำปรึกษาและการช่วยเหลือในการใช้ประสาทหูเทียมและการฟื้นฟูสมรรถภาพการฟังและการพูดภายหลังการผ่าตัดอย่างครบวงจรแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว (One Stop Service for C.I. Recipients) และเพื่อให้เป็นต้นแบบแห่งการให้บริการนี้ในสถานศึกษาอื่น ๆ เช่นศูนย์การศึกษาพิเศษ ศูนย์บริการเด็กหูหนวกและครอบครัว โรงเรียนโสตศึกษาของรัฐและเอกชน ตลอดจนเป็นศูนย์บ้านเรียนสำหรับผู้ปกครองของเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมในจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ ดังจะเห็นจากตัวชี้วัดต่อไปนี้

  • เด็กหูหนวกที่ใช้ประสาทหูเทียมที่ได้รับการสนับสนุนทุนอุปกรณ์เครื่องประสาทหูเทียมจากมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกฯได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการฟังและการพูดอย่างน้อยร้อยละ 80
  • ผู้ปกครองของเด็กหูหนวก หูตึง ได้รับข้อมูลข่าวสารเรื่องทางเลือกในการสื่อสารที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของเด็กและความพร้อมของผู้ปกครองอย่างน้อยร้อยละ 80
  • ผู้ปกครองมีความพอใจในการบริการแบบเบ็ดเสร็จของศูนย์สาธิตและพัฒนาเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมอย่างน้อยร้อยละ 80
  • บุคลากรที่ประสงค์จะพัฒนาทักษะวิธีสอนพูดโดยใช้ทักษะการฟังมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนพูดให้เด็กที่ใช้ประสาทหูเทียมเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ80
  • บุคลากรที่เข้ามารับการฝึกอบรมและศึกษาดูงานในศูนย์สาธิตนี้มีความพึงพอใจในการบริการต่าง ๆ ที่ศูนย์จัดให้อย่างน้อยร้อยละ 80

 

 

 

มอบทุนการศึกษาประจำปี 2563 ให้รร.เศรษฐเสถียรฯ

Categories: ข่าวประชาสัมพันธ์Tags: , on

วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง ประธานฝ่ายวิชาการ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มอบทุนการศึกษาจำนวน 30,000 บาทให้แก่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ โดยมอบให้นักเรียนหูหนวก 30 คน คนละ 1,000 บาท กิจกรรมนี้จัดขึ้นทุกปีในวันไหว้ครูประจำปี และมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกฯ ยังมอบทุนการศึกษาให้แก่โรงเรียนโสตศึกษาทั่วประเทศจำนวน 21  แห่งเป็นประจำทุกปีอีกด้วย

Previous Next
Close
Test Caption
Test Description goes like this