หมอกจางจางและควัน
คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้
อยากจะถามดู
ว่าเธอเป็นอย่างหมอกหรือควัน

หมอกจะงดงามและทำให้เยือกเย็น
แสนจะเย็นสบายเมื่อยามเช้า
ถ้าเป็นควันไฟถึงจะบางเบา
หากเข้าในตาเราก็คงจะทำให้เสียน้ำตา

เธอเป็นยังไงจึงอยากรู้
เพราะฉันดูเธอไม่ออก ยังคงไม่เข้าใจ
บางทีเธอเป็นเช่นหมอกขาว
และบางคราวเธอเป็นเหมือนควัน
ฉันนั้นชักไม่มั่นใจ

เพราะถ้าฉันต้องเสี่ยงกับควันไฟ
จะเตรียมตัวและเตรียมใจถอนตัว
เพราะว่ากลัวจะเสียน้ำตา

หมอกจะงดงามและทำให้เยือกเย็น
แสนจะเย็นสบายเมื่อยามเช้า
ถ้าเป็นควันไฟถึงจะบางเบา
หากเข้าในตาเราก็คงจะทำให้เสียน้ำตา

เธอเป็นยังไงจึงอยากรู้
เพราะฉันดูเธอไม่ออก ยังคงไม่เข้าใจ
บางทีเธอเป็นเช่นหมอกขาว
และบางคราวเธอเป็นเหมือนควัน
ฉันนั้นชักไม่มั่นใจ

เพราะถ้าฉันต้องเสี่ยงกับควันไฟ
จะเตรียมตัวและเตรียมใจถอนตัว
เพราะว่ากลัวจะเสียน้ำตา

ถอนตัวเพราะว่ากลัวจะเสียน้ำตา
จะถอนตัวเพราะว่ากลัวจะเสียน้ำตา

 

เราว่าต้องมีหลายคนที่แอบทำท่าภาษามือตามเนื้อร้องของเพลงนี้

และเชื่อว่าหลายคนรู้จักภาษามือและคนหูหนวกเป็นครั้งแรกเพราะเพลงนี้เช่นกัน

ย้อนเวลากลับไปเมื่อปี พ.ศ.2533

ไม่มีใครไม่รู้จัก พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์

นักร้องที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดตลอดกาลคนหนึ่งของวงการบันเทิงไทย

และอัลบั้มที่มาแรงที่สุดในปีนั้นก็คือ “บูมเมอแรง”

อัลบั้มนี้รวมเพลงที่ดังระเบิดของพี่เบิร์ดไว้หลายเพลง

รวมถึงเพลง “หมอกหรือควัน” เพลงนี้ด้วย

 

ย้อนกลับไปอีก 5 ปี ในปีพ.ศ. 2528

ณ เวลานั้นคนทั่วไปยังไม่ค่อยได้รับข่าวสารเกี่ยวกับคนหูหนวก

ยังไม่รู้จักว่าคนหูหนวกเป็นอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างไร

และไม่รู้วิธีที่จะสื่อสารกับคนหูหนวก

จึงเหมือนกับว่าโลกของคนหูดีและคนหูหนวกนั้น

ตัดขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง

 

แต่อยู่มาวันหนึ่ง สิ่งแปลกใหม่ก็เกิดขึ้นในวงการโทรทัศน์

ในรายการ “เวทีวาที” รายการทอล์กโชว์ที่มีชื่อเสียงทั่วฟ้าเมืองไทย

ของพิธีกรและนักพูดระดับตำนาน คุณแอ้-กรรณิกา ธรรมเกษร

ที่มุมขวาล่างของจอโทรทัศน์ ปรากฏว่ามีจอเล็ก ๆ โผล่ขึ้นมาอีกจอหนึ่ง

และในจอเล็ก ๆ นั้น มีคนที่คอยทำหน้าที่สื่อสาร

แปลภาษาพูดของเหล่านักพูดที่มาในรายการ

ให้กลายเป็นภาษามือเพื่อให้คนหูหนวกที่ชมรายการอยู่ทางบ้าน

ได้เข้าใจเนื้อหาสาระของรายการไป

และได้รับความบันเทิงไปพร้อมๆ กับสมาชิกในครอบครัว

นั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้เรารู้จัก “ล่ามภาษามือ”

ทำให้เราได้รับรู้ว่ามีคนหูหนวกอยู่ร่วมกับเราในสังคม

และเป็นผู้ชมรายการโทรทัศน์เช่นเดียวกับทุกคน

 

จากนั้น โลกของคนหูดีและคนหูหนวกก็ค่อย ๆ เชื่อมเข้าหากัน

คนทั่วไปสนใจที่จะสื่อสารกับคนหูหนวกมากขึ้น

และในปี 2533 นั้นเอง ประเทศไทยก็ได้ต้อนรับ Alexander Wesley Jones

นักเรียนหูหนวกคนแรกในโครงการ AFS (American Field Service) จากสหรัฐอเมริกา

มาเรียนร่วมกับเด็กหูหนวกไทยที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์

ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

Alex เป็นเด็กหูหนวกอเมริกัน จึงใช้ภาษามืออเมริกัน

Host family หรือครอบครัวที่จะรับ Alex มาอยู่ร่วมกันได้

จึงต้องมีผู้ที่ใช้ภาษามืออเมริกันได้ 

จริงๆ แล้ว Alex เลือกจะไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น

แต่ไม่มีครอบครัวไหนสามารถรับ Alex ไปอยู่ด้วยได้

ทาง Gallaudet University กรุง Washington D.C.

จึงแนะนำให้ AFS ติดต่อมายังดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง

ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย ซึ่งใช้ภาษามืออเมริกันได้ 

Alex เล่าให้เราฟังว่า วินาทีที่ดร.มลิวัลย์ โอบกอด Alex ตอนเจอกันครั้งแรก

เขาก็รู้ได้ทันทีว่าเขาอยู่กับ “แม่” คนไทยคนนี้ได้แน่นอน 

ดังนั้น Alex จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง

ล่ามภาษามือทางโทรทัศน์คนแรกของประเทศไทย

ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ อยู่ในขณะนั้น

 

Alex หรือ “เล็ก” ชื่อเล่นภาษาไทยที่ดร.มลิวัลย์เป็นคนตั้งให้

เป็นเด็กที่กล้าแสดงออก มีความสนใจและความถนัดด้านการละคร และการเต้น

เมื่อคุณบุษบา ดาวเรือง ครีเอทีฟชื่อดังจากแกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเมนต์ในขณะนั้น

ติดต่อมาที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ เพื่อให้ดร.มลิวัลย์

เป็นผู้ฝึกสอนภาษามือให้กับพี่เบิร์ด ในเพลง “หมอกหรือควัน”

ที่จะแสดงในคอนเสิร์ตใหญ่คือคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ด ตอนที่ 4 

“มันอยู่ในมือมนุษย์บูมเมอแรง” 

ดร.มลิวัลย์จึงได้เสนอความคิดเห็นว่าอยากให้ “เล็ก”

เป็นคนไปสอนท่าภาษามือให้กับพี่เบิร์ดแทน

เพราะ “เล็ก” เป็นวัยรุ่นฝรั่ง ดูจะมีอะไรน่ารักน่าสนใจมากกว่า

และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยได้รู้จักกับคนหูหนวกมากยิ่งขึ้น

จากนั้นดร.มลิวัลย์และ “เล็ก”ก็ร่วมกันคิดท่าภาษามือประกอบเพลง “หมอกหรือควัน”

โดยคัดเลือกท่าภาษามือที่สวยงาม ดูแล้วเข้ากับเนื้อร้องและทำนอง

ไปนำเสนอคุณบุษบา ดาวเรือง ซึ่งมีส่วนร่วมออกความคิดเห็น

และดูความเหมาะสมสวยงามเพื่อไปฝึกสอนให้กับพี่เบิร์ด

                  

ในวันแสดงคอนเสิร์ต ภาษามือในเพลง “หมอกหรือควัน”

ก็สร้างปรากฏการณ์ฮือฮาขึ้นในวงการบันเทิงแบบพลุแตก

เพราะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่นำภาษามือมาแสดงในคอนเสิร์ต

โดยศิลปินตัวพ่อของวงการอย่างพี่เบิร์ด-ธงไชย

กลายเป็นไวรัลกระแสฮิตทำภาษามือตามพี่เบิร์ดกันทั้งบ้านทั้งเมือง

ตั้งแต่ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายด้วยซ้ำไป

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ภาษามือซึ่งรู้จักเพียงในหมู่ของคนหูหนวก

ได้กลายมาเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

เห็นได้จากความนิยมในการเรียนภาษามือ

ซึ่งทางมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์

จัดการเรียนการสอนต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานนับสิบปีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

แต่มีความจำเป็นต้องหยุดชั่วคราวเนื่องจากพิษโควิด-19

และทุกวันนี้ล่ามภาษามือที่เป็นของแปลกใหม่ในสมัยนั้น

ได้กลายมาเป็นบริการสาธารณะของรัฐที่ต้องจัดให้กับคนหูหนวก/หูตึง

เพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เท่าเทียมตามสิทธิมนุษยชน

 

ในปี 2564 นี้เราอาจจะได้เห็นภาพการใช้ภาษามือประกอบการร้องเพลงอีกครั้ง

แต่จะเป็นศิลปินท่านใด จะตรงกับที่เราคิดไว้หรือไม่

ต้องติดตามชม